-
12th July 2012, 09:07 PM
#46
ทุกครั้ง ที่เจอกัน เมื่อรู้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นมนุษย์ หมาในจะรีบหลบไปทันที มันเป็น
สัตว์ขี้อาย คนที่เคยเห็นหมาในนานๆ มักเป็นขณะที่หมาในล่าเหยื่อ ซึ่งมันจะจดจ้องเหยื่อ
จนไม่สนใจว่ามีใครอยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่ เราจึงมีโอกาสได้เห็นภาพการทำงานที่อาจดู
ทารุณโหดร้าย บ่อยครั้งที่พวกมันถูกคนไล่ตะเพิด เพราะภาพเหยื่อที่ถูกรุมไล่ล่าดูน่าเวทนา
กว่าชีวิตหมาในทั้งฝูง รวมทั้งลูกน้อยที่จะไม่มีอาหารกิน
เคยมีกวางป่าถูกหมาในกัดจนลูกตาหลุดไปทั้งสองข้าง แต่มีคนเข้าไปไล่หมาในจนต้องหนีไป
สุดท้ายกวางตัวนั้นก็ตายเปล่า เพราะซากที่เน่าเหม็นกลายเป็นเพียงอาหารของเหี้ยเท่านั้น
หมาในชอบกินทิ้งกินขว้าง-เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริง ผมพบหมาในล่าเหยื่อได้หลายครั้ง
ทุกครั้งก็กินซากจนหมดเกลี้ยงและใช้ซากอย่างคุ้มค่า ส่วนที่ว่าหมาในล่าเหยื่อเป็นว่าเล่น
ก็เป็นช่วงเวลาที่หมาในมีลูกน้อย ฝูงหมาในต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาอาหารให้เพียงพอกับ
สมาชิกใหม่ และหมาในก็ไม่ได้ล่าอย่างพร่ำเพรื่อ หลายครั้งที่ผมเห็นหมาในนอนมองดูกวาง
ตัวอื่นอยู่เฉยๆ หลังจากที่มีอาหารแล้ว
-
เพื่อนสมาชิกจำนวน 2 คน ถูกใจโพสต์ข้อความนี้จาก คุณ นักเรียนน้อย
นายจ่อย (7th August 2012), ลุงช้างกับป้าตา (19th February 2014)
-
12th July 2012, 09:10 PM
#47
ในเรื่องอาหารหรือเหยื่อของหมาในนั้น คุณลอนเคยวิเคราะห์ขี้ของหมาในพบว่า
กินเก้งมากที่สุด รองลงมาคือกวางป่า หมูป่าและเนื้อทราย ตามลำดับ และยังกินเม่น
นก กิ้งก่า แมลงและสัตว์เล็กๆ ที่จับได้ นอกจากนี้หมาในยังล้มกระทิงและวัวแดง
พวกที่ยังโตไม่เต็มที่ได้ ทีมงานวิจัยของเขตฯ เคยพบฝูงหมาในใช้เวลากว่า ๓ ชั่วโมง
ในการล้มลูกกระทิงที่มีขนาดพอๆ กับกวางป่าตัวเมียในโป่งลึกกลางป่า ส่วนผมก็เคย
พบหมาในที่พยายามจะเล่นงานลูกช้าง
ในฤดูแล้งโขลงช้างป่ามักมากินน้ำในหนองน้ำประจำที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง ผมพบร่องรอยว่ามี
ช้างป่าวนกลับมาหากินอยู่ใกล้ๆ หนองน้ำจึงไปเฝ้าดู รอจนค่ำแต่ช้างป่าไม่ยอมออกมากินน้ำ
รอบดึกจึงกลับไปดูใหม่ เฝ้าอยู่พักใหญ่ก็ได้ยินเสียงเห่าของหมาในและเสียงร้องของช้างป่า
ผสมกับเสียงไม้หักอึกทึกครึกโครมอยู่ในราวป่า เสียงนั้นค่อยๆ ไกลออกไป จนกระทั่งเงียบ
ไปในที่สุด
รุ่งเช้าผมรีบกลับไปดู มีรอยตีนช้างป่าและหมาในย่ำอยู่เต็มไปหมด ในนั้นมีรอยตีนลูกช้างที่เล็ก
มากคาดว่าพึ่งเกิดได้ไม่นานรวมอยู่ด้วย ตอนแรกก็ไม่ปักใจเชื่อว่าหมาในจะกล้าลองดีกับโขลงช้างป่า
จึงไปค้นคว้าจนเจอข้อมูลในหนังสือ “โลกของเสือโคร่ง” ของ ริชาร์ด เพอร์รี่ ที่เล่าถึง
เรื่องของหมาในที่พยายามเล่นงานลูกช้าง แต่ไม่สำเร็จถูกแม่ช้างฆ่าตายไปหลายตัว
-
เพื่อนสมาชิกจำนวน 3 คน ถูกใจโพสต์ข้อความนี้จาก คุณ นักเรียนน้อย
TOR-HONG (13th July 2012), นายจ่อย (7th August 2012), ลุงช้างกับป้าตา (19th February 2014)
-
12th July 2012, 09:15 PM
#48
มีเรื่องหนึ่งที่ยังสงสัย ผมพบหมาใน ๓ ฝูงที่มีลูกออกหากินด้วยกัน แต่ละฝูงมีลูกแค่
๒ ตัว ทั้งๆ ที่แม่หมาในสามารถให้กำเนิดลูกได้มากกว่านั้น ผมสันนิษฐานว่าอาจเป็น
เพราะหมาในมีขนาดฝูงไม่ใหญ่แค่ ๘-๑๐ ตัว ศักยภาพที่จะเลี้ยงลูกให้รอดคงมีอยู่แค่นั้น
คนมักกลัวว่ากวางป่าจะถูกหมาในล่าจนหมด ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริงเลย
ผมพบว่ากวางป่าที่หน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรมไม่ได้ลดน้อยลงเลยในแต่ละปี
ส่วนเนื้อทรายบริเวณทุ่งกะมังก็เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี...เป็นหมาในต่างหากที่
กลับพบเห็นตัวยากขึ้นเรื่อยๆ
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)
จัดสถานภาพให้หมาในเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ประเมินว่ามีหมาในตัวโตเต็มวัย
ทั่วโลกน้อยกว่า ๒,๕๐๐ ตัว และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ
นอกจากคนซึ่งถือเป็นปรปักษ์อันดับหนึ่ง ศัตรูในธรรมชาติของหมาในมีไม่มากนัก
ชุดสำรวจประชากรเสือโคร่งของเขตฯ ภูเขียวเคยพบร่องรอยการต่อสู้ของเสือโคร่ง
กับหมาใน ผลจะเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ พบเพียงซากหมาในถูกฆ่าตายหนึ่งตัว
ส่วนชุดลาดตระเวนของเขตฯ ก็เคยพบหมาในถูกฆ่าครั้งหนึ่ง ตอนที่ไปพบนักฆ่า
กระโดดหายไปในป่าหญ้าคา มีรอยเขี้ยวฝังลึกอยู่ที่คอและฟองน้ำลายก็ยังไม่ทันจะแห้ง
เดากันว่าน่าจะเป็นเสือดาว
-
เพื่อนสมาชิกจำนวน 3 คน ถูกใจโพสต์ข้อความนี้จาก คุณ นักเรียนน้อย
TOR-HONG (13th July 2012), นายจ่อย (7th August 2012), ลุงช้างกับป้าตา (19th February 2014)
-
12th July 2012, 09:22 PM
#49
๔ ปีต่อมาหลังจากภาพ “การทำงานของหมาใน” ได้รับรางวัล
เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ภาพ “การทำงานของหมาใน” ภาพใหม่
ก็ได้รับการนำไปจัดแสดงในงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ หลายคน
เข้ามาถามถึงที่มาที่ไปของภาพด้วยความสนใจ คำถามที่ผมยังคงได้รับบ่อยที่สุดคือ
“ไปถ่ายมาได้อย่างไร” หลังจากอธิบายอยู่หลายรอบ ผมตอบสั้นๆ แบบขำๆ แต่
หมายความตามนี้จริงๆ ว่า “เพราะเรารู้จักกันครับ”
ผมเชื่อว่า คำอธิบายภาพจะช่วยให้คนเข้าใจชีวิตหมาในเพิ่มขึ้น ซึ่งผมเขียนไว้ว่า
“ในที่สุดกวางป่าที่อ่อนแอที่สุดก็ถูกฝูงหมาในว่ายน้ำตามมาทันและรุมเข้าเล่นงาน
หน้าที่อย่างหนึ่งของหมาใน คือควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม
หากมีแต่สัตว์กินพืชขยายเผ่าพันธุ์เพียงอย่างเดียว พืชหลายชนิดที่เป็นอาหารก็จะถูกกัดกิน
จนเติบโตไม่ทัน เมื่อถึงจุดหนึ่งพืชอาหารก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ธรรมชาติก็จะเสีย
สมดุลไป นอกจากนี้หมาในยังช่วยกำจัดสัตว์ที่อ่อนแอหรือขี้โรค ช่วยให้สัตว์ที่แข็งแรงสมบูรณ์
ได้มีโอกาสถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน”
-
เพื่อนสมาชิกจำนวน 3 คน ถูกใจโพสต์ข้อความนี้จาก คุณ นักเรียนน้อย
TOR-HONG (13th July 2012), นายจ่อย (7th August 2012), ลุงช้างกับป้าตา (19th February 2014)
-
13th July 2012, 10:46 AM
#50
-
เพื่อนสมาชิกดังต่อไปนี้ ถูกใจ โพสต์ข้อความนี้ของคุณ TOR-HONG
ลุงช้างกับป้าตา (19th February 2014)